ทวีปอเมริกาเหนือ (North America)
สาระสำคัญ
อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ตั้งอยู่ทางซีกโลกเหนือ และเป็นดินแดนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ และการคมนาคมขนส่ง ทั้งยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพวกผิวขาวชาวยุโรปและได้รับการศึกษาดี ทำให้อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่เจริญก้าวหน้ามากในทุกๆ ด้าน
ความเป็นมาโดยสังเขป
อเมริกาเหนือเป็นทวีป ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีคนรู้จัก จนกระทั่งมีนักเดินเรือชาวอิตาเลียนชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Comlubus) ได้เดินทางมาพบเกาะบริเวณที่เป็นหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ใน พ.ศ. 2035 และเข้าใจว่าดินแดนใหม่ที่เขาพบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย ต่อ พ.ศ.2042 อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) ชาวอิตาเลียนได้เดินทางสำรวจดินแดนที่โคลัมบัสเคยสำรวจมาแล้ว จึงทราบว่าดินแดนที่พบนั้นเป็นทวีปใหม่ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทวีปเอเชียตามที่โคลัมบัสเข้าใจ และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เขา ชาวยุโรปจึงตั้งชื่อทวีปใหม่นี้ว่า อเมริกา (America)
ลักษณะทางกายภาพ
1. ที่ตั้ง อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ ระหว่างละติจูดประมาณ 7-83 องศาเหนือ ลองจิจูด17-172 องศาตะวันตก โดยมีเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ลากผ่านตอนกลางของประเทศเม็กซิโก
2. อาณาเขต
1) ทิศเหนือ ติดต่อกับสมุทรอาร์กติก มีน่านน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลโบฟอร์ต อ่าวแบฟฟิน อ่าวฮัดสัน ช่องแคบเดวิส และทะเลแลบราดอร์ เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะกรีนแลนด์ เกาะแบฟฟิน เกาะวิกตอเรีย เกาะเอลสเมียร์ และหมู่เกาะควีนอลิซาเบธ ซึ่งอยู่ในเขตอากาศหนาว จึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจน้อย มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
2) ทิศตะวันออก ติดต่อกับสมุทรแอตแลนติก มีเกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะนิวฟันด์แลนด์ เกาะเบอร์มิวดา และหมู่เกาะบาฮามาส
3) ทิศใต้ ติดต่อกับ มหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปอเมริกาใต้ มีคลองปานามาเป็นแนวแบ่งเขตทวีปน่านน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก มีเกาะที่สำคัญ คือ หมู่เกาะอินดีสตะวันตก ได้แก่ เกาะคิวบา เกาะฮิสแปนิโอลา เกาะจาเมกา เกาะเปอร์โตริโก
4) ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนเหนือของทวีปมีช่องแคบเบริงคั่นระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชีย มีคาบสมุทรที่สำคัญ คือ คาบสมุทรแคลิฟอร์เนีย และคาบสมุทรอะแลสกาน่านน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลเบริง อ่าวอะแลสกา อ่าวแคลิฟอร์เนีย เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะแวนคูเวอร์ หมู่เกาะอาลูเชียน และหมู่เกาะควีนชาร์ล็อต
3. ขนาดพื้นที่
อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 24,247,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รูปร่างของทวีปอเมริกาเหนือคล้ายรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ คือมีฐานกว้างอยู่ทางเหนือและปลายแหลมอยู่ทางใต้ ความกว้างของทวีปตั้งแต่ช่องแคบเบริงถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ประมาณ 4,828 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดที่คอคอดปานามา กว้างประมาณ 50 กิโลเมตร
4. ภูมิภาค อเมริกาเหนือแบ่งตามสภาพสังคมวัฒนธรรม มี 2 ส่วน ได้แก่ แองโกลอเมริกาและละตินอเมริกา โดยถือเอาแม่น้ำริโอแกรนด์ (Rio Grande) เป็นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาเป็นแนวแบ่ง
1. แองโกลอเมริกา (Anglo-America) คือ ดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำริโอแกรนด์ ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวอังกฤษ
2. ละตินอเมริกา (Latin-America) คือ ดินแดนของประเทศต่างๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำริโอแกรนด์ ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายและวัฒนธรรมมาจากสเปนและโปรตุเกส ประกอบด้วย
2.1 อเมริกากลาง หมายถึง ดินแดนที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำริโอแกรนด์ ได้แก่ เม็กซิโก เบลิซ คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว และปานามา
2.2 ประเทศที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ได้แก่ บาฮามาส บาร์เบโดส คิวบา โดมินิกัน เกรเนดา เฮติ เจเมกา เปอร์โตริโก ตรินิแดดและโตเบโก แอนติกาและบาร์บูดา โดมินิกา กวาเดอลูปมาร์ตินีก เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส เซนต์คิดส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 4 เขต
1) เขตหินเก่าแคนาดา (Canadian Shield) ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบๆ อ่าวฮัดสันลงมาถึงทะเลสาบทั้ง 5เป็นเขตหินที่เก่าแก่ที่สุดเช่นเดียวกับบอลติกชีลด์ในทวีปยุโรป ประกอบด้วยหินเปลือกโลกที่มีอายุเก่าแก่และผ่านการสึกกร่อนมานาน ลักษณะของพื้นที่จึงเป็นที่ราบเกือบทั้งหมดและอยู่ในเขตอากาศหนาวจัด ทางตอนเหนือมีเกาะใหญ่น้อยมากมาย พื้นที่ส่วนใหญ่มีธารน้ำแข็งปกคลุม มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางและมีจำนวนน้อยมาก
2) เขตเทือกเขาภาคตะวันออก มีอาณาเขตตั้งแต่เกาะนิวฟันด์แลนด์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เป็นเขตหินเก่าแต่มีอายุน้อยกว่าเขตหินเก่าแคนาดา ประกอบด้วยเทือกเขาเตี้ยๆ ที่ผ่านการสึกกร่อนมานาน ได้แก่ เทือกเขาแอปปาเลเชียน มียอดเขาสูงสุดชื่อ ยอดเขามิตเชล อยู่ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา สูง 2,005 เมตร
3) เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก เป็นเขตเทือกเขาสูงที่สลับซับซ้อนกันหลายแนวที่เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลกที่มีอายุน้อย จึงเป็นเขตที่มักเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว มีอาณาบริเวณตั้งแต่ตอนเหนือสุดของช่องแคบแบริงจนถึงประเทศปานามา ได้แก่ เทือกเขาอะแลสกา มียอดเขาสูงสุดในทวีปอเมริกเหนือ ชื่อ ยอดเขาแมกคินลีย์ (6,190 เมตร) เทือกเขารอกกี เทือกเขาแคสเกต เทือกเขาเซียราเนวาดา เทือกเขาเซียรามาเดร และเทือกเขาโคสต์ ระหว่างเทือกเขาสูงเหล่ามีที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาที่สำคัญ คือ ที่ราบสูงอะแลสกา ที่ราบสูงบริติชโคลัมเบีย ที่ราบสูงเกรตเบซิน ที่ราบสูงโคโลราโด และที่ราบสูงเม็กซิโก โดยเฉพาะที่ราบสูงโคโลราโด มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโกรกธาร หุบเหวลึก มีหน้าผาสูงชัน ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลของแม่น้ำโคโลราโด ทำให้เกิดการกัดเซาะดินและชั้นหิน เกิดเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon) ในมลรัฐแอริโซนา และมีอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมาก คือ อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตน เป็นอุทยานน้ำพุร้อนกีเซอร์ รวม 120 แห่ง
4) เขตที่ราบภาคกลาง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีอาณาเขตตั้งแต่มหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือลงมาจนถึงอ่าวเม็กซิโกทางตอนใต้ และระหว่างเทือกเขารอกกีกับเทือกเขาแอปปาเลเชียน ประกอบด้วยชั้นหินที่เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลก ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบลูกคลื่น คือ บริเวณที่สูงจะอยู่ตอนเหนือและเขตติดต่อกับเทือกเขารอกกี บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ประกอบด้วยเขตที่ราบ 6 เขต คือ
4.1 ที่ราบลุ่มแม่น้ำแมกเคนซี (Mackenzie Lowlands) อยู่ตอนเหนือสุดระหว่างเขตหินเก่าแคนาดากับเทือกเขาแมกคินลีย์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแคบๆ มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง เนื่องจากมีอากาศหนาวเย็น
4.2 ที่ราบแพร์รีแคนาดา (Canadian Prairie) เป็นที่ราบใหญ่อยู่ทางภาคกลางของแคนาดา ได้แก่ บริเวณรัฐแมนิโทบา ซัสแคตเชวัน แอลเบอร์ทา เป็นเขตปลูกข้าวสาลีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
4.3 ที่ราบลุ่มทะเลสาบทั้ง 5 และลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ (Great Lakes and St.Lawrence) ทะเลสาบทั้ง 5 ได้แก่ ทะเลสาบสุพีเรีย (ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก) มิชิแกน ฮูรอน อีรี และออนแตริโอ เป็นแหล่งน้ำที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และระหว่างทะเลสาบอีรีกับออนแตริโอมีน้ำตกขนาดใหญ่ ชื่อว่า น้ำตกไนแอการาและที่ชายฝั่งทะเลสาบออนแตริโอ มีทางระบายซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก เขตที่ราบรอบทะเลสาบทั้ง 5 และลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ มีดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก และเป็นบริเวณที่การขนส่งทางน้ำภายในทวีปสำคัญที่สุดในโลก จึงเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
4.4 ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี-มิสซูรี (Missisippi-Missouri Plain) เป็นที่ราบที่เกิดจากแม่น้ำพัดเอาดินตะกอนมาทับถมเป็นบริเวณกว้าง เหมาะแก่การเพาะปลูก ได้แก่ แม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งมีความยาวที่สุดในอเมริกาเหนือ ยาว 3,779 กิโลเมตร ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก และมีแม่น้ำสาขา คือ แม่น้ำมิสซูรี โอไฮโอ เทนเนสซี อาร์คันซอส์ เป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแห่งหนึ่งของอเมริกาเหนือ
4.5 ที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (Gult Coast and Atlantic Plain) มีบริเวณตั้งแต่ทางตะวันออกของเทือกเขาแอปปาเลเชียนลงไปทางใต้ถึงอ่าวเม็กซิโก โดยเฉพาะที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกเป็นเขตที่มีอากาศร้อน จึงเหมาะแก่การปลูกพืชเมืองร้อน เช่น ยาสูบ ข้าวเจ้า ฝ้าย ผลไม้ต่างๆ
4.6 ที่ราบบนที่สูง (High Plains)ได้แก่ พื้นที่ทางด้านตะวันออกของเทือกเขารอกกี ซึ่งเป็นเขตเงาฝนหรือเขตอับลม ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำ เป็นเขตเหมาะสำหรับปลูกข้าวสาลี โดยใช้เครื่องจักรทุ่นแรงในการเพาะปลูกแบบไร่ขนาดใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศต่อทวีปอเมริกาเหนือ
1.ที่ตั้ง อเมริกาเหนือเป็นทวีปมีอาณาเขตตั้งแต่ใกล้ขั้วโลกถึงใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศทั้งในเขตหนาว อบอุ่น และร้อน แต่ส่วน
ใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น (ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์กับเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล)
2. ลักษณะภูมิประเทศ เทือกเขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ โดยเฉพาะทางตะวันตก เป็นกำแพงขวางกั้นทิศทางลมที่พัดนำความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้พื้นที่ภายในทวีปเป็นเขตแห้งแล้งแบบทะเลทรายและกึ่งทะเลทราย ส่วนทางตะวันออกมีเทือกเขาไม่สูงมากนัก ซึ่งวางตัวอยู่ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ขวางกั้นทิศทางลมที่นำความชื้นจากมหาสมุทรแอตแลนติก และมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ
3. กระแสน้ำ ชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐอเมริกา มีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์-สตรีมไหลผ่าน ทำให้ชายฝั่งด้านนี้มีอากาศไม่หนาวเย็นมากนัก แม้จะตั้งอยู่ในละติจูดสูง ส่วนชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของแคนาดา มีกระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ไหลผ่าน ทำให้มีอากาศหนาวเย็นมาก บริเวณที่กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมกับกระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ ไหลมาบรรจบกัน ทำให้เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมากแห่งหนึ่งของโลก เรียกว่า แกรนด์ แบงก์ ทางชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิก มีกระแสน้ำอุ่นอะแลสกาเหนือไหลผ่าน ทำให้มลรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกาและรัฐบริติชโคลัมเบีย มีอากาศอบอุ่นไม่หนาวเย็น แม้จะอยู่ในละติจูดสูง ส่วนทางใต้มีกระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียไหลเลียบชายฝั่ง ทำให้ชายฝั่งด้านนี้มีอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน แม้จะตั้งอยู่ในละติจูดต่ำ
ภูมิอากาศในอเมริกาเหนือ แบ่งออกเป็น 12 เขต ดังนี้
1. ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (Tropical Rainforest Climate) เป็นภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกและอุณหภูมิสูงตลอดปี พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าดิบชื้นพบบริเวณ ชายฝั่งตะวันออกของอเมริกากลาง บางส่วนของหมู่เกาะอินดีสตะวันตก
2. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน (Tropical Grassland Climate) เป็นภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิในฤดูร้อนกับฤดูหนาวแตกต่างกันมาก มีฝนตกปานกลางส่วนใหญ่ตกในฤดูร้อนและมีฤดูแล้งสลับปีละหลายเดือน พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าโปร่งสลับทุ่งหญ้า เรียกว่า ทุ่งหญ้าสะวันนา (Savanna) พบบริเวณ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเม็กซิโกและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ชายฝั่งตะวันตกของอเมริกากลาง
3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย (Desert Climate) เป็นภูมิอากาศร้อนแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่เกิน 10 นิ้ว/ปี พืชพรรณธรรมชาติ เป็นพืชจำพวกตะบอกเพชรและไม้ประเภทมีหนาม พบบริเวณ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและภาคเหนือของเม็กซิโก
4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย (Steppe Climate) เป็นภูมิอากาศร้อนแห้งแล้ง ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 10-15 นิ้ว/ปี พืชพรรณธรรมชาติ เป็นทุ่งหญ้าสั้นๆ เรียกว่า ทุ่งหญ้าสเตปป์ (Steppe) พบบริเวณ ชายขอบของทะเลทรายทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา บางส่วนของแคนาดาและเม็กซิโก
5. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Climate) เป็นภูมิอากาศร้อนจัดและแห้งแล้งในฤดูร้อน มีอากาศอบอุ่น มีฝนตกในฤดูหนาว พืชพรรณชาติ เป็นทุ่งหญ้าสลับป่าไม้พุ่มเตี้ยๆ หรือเรียกว่า ป่าแคระ (Chaparral) พบบริเวณ ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนกลางของมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา
6. ภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก (Marine Westcoast Climate) มีอากาศในฤดูร้อน อบอุ่นถึงค่อนข้างเย็น ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด มีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี เพราะได้รับอิทธิพลจากลมประจำตะวันตก พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าไม้ผลัดใบผสมกับป่าสนพบบริเวณ ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
7. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Humid Subtropical Climate) มีลักษณะอากาศอบอุ่น อุณหภูมิปานกลาง ฝนตกตลอดปีไม่มีฤดูแล้ง พืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าไม้ใบกว้างผลัดใบ พบบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ดินแดนที่อยู่ภายในทวีปมีฝนตกน้อย พืชพรรณเป็นทุ่งหญ้ายาวในเขตอบอุ่น เรียกว่า ทุ่งหญ้าแพร์รี (Prairie)
8. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นทวีป (Humid Continental Climate) ฤดูร้อนมีอุณหภูมิปานกลางถึงสูงมาก และมีฝนตก ฤดูหนาวมีอากาศหนาว พืชพรรณธรรมชาติ เป็น ป่าสนผสมป่าไม้ผลัดใบ พบบริเวณ พื้นที่ทางตะวันออกและตะวันตกของทะเลสาบทั้ง 5 ( บริเวณทางตอนใต้ของแคนาดาและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา)
9. ภูมิอากาศแบบไทกา (Taiga Climate) หรือ ภูมิอากาศกึ่งขั้วโลก มีฤดูร้อนมีอากาศค่อนข้างเย็น มีระยะเวลาสั้น มีฝนตกน้อย ฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด มีหิมะตก พืชพรรณธรรมชาติ ป่าสน เป็นแหล่งไม้เนื้ออ่อนที่สำคัญของอเมริกาเหนือ พบบริเวณมลรัฐอะแลสกา และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือของแคนาดา
10. ภูมิอากาศแบบทุนดรา (Tundra Climate) หรือ ภูมิอากาศแบบขั้วโลก เป็นภูมิอากาศที่มีอากาศหนาวจัดตลอดปี ในฤดูร้อนไม่เดือนใดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 10 องศาเซลเซียส พืชพรรณธรรมชาติ เป็นพวกตะไคร่น้ำ มอสส์ พบบริเวณชายฝั่งของมหาสมุทรอาร์กติกของมลรัฐอะแลสกาและแคนาดา
11. ภูมิอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง (Ice-cap Climate) พบบริเวณ ตอนกลางของเกาะกรีนแลนด์ มีอากาศหนาวจัดและมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดปี
12. ภูมิอากาศแบบที่สูง (Highland Climate) ภูมิอากาศที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปตามความสูงของพื้นที่ทุก ๆ ความสูง 180 เมตร อุณหภูมิลดลง 1 องศาเซลเซียส
ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม
มนุษย์กลุ่มแรกของอเมริกาเหนือเป็นขาวเอเชียที่อพยพมาจาก ไซบีเรียผ่านช่องแคบเบริงเข้าสู่อะแลสกา เมื่อประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว ต่อมาได้แพร่ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มนุษย์กลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของพวกอินเดียและเอสกิโมในปัจจุบันชน เผ่าโบราณได้ทิ้งร่องรอยของอารยธรรมที่เจริญก้าวหน้าไว้ในทวีปอเมริกาเหนือ หลายแห่ง เช่น อารยธรรมของพวกแอสเต็ก (Aztec) ในเม็กซิโก อารยธรรมของพวกมายา (Maya) ในกัวเตมาลา อารยธรรมของพวกอินคา (Inca)ในเปรู เป็นต้น เมื่อประมาณ 200 ปีหลังจากที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมเบีย ได้ค้นพบทวีปอเมริกาเหนือแล้ว ได้มีชาวยุโรปจากหลายประเทศเข้ามามีอิทธิพลและพากันอพยพผู้คนเข้ามาอาศัยในดินแดนนี้
– อังกฤษและฝรั่งเศส เข้าครอบครองตอนเหนือของทวีปอเมริกา
– สเปน เข้าครอบครองหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เม็กซิโกและอเมริกากลาง
การที่ชาวยุโรปเข้ามาครอบครองทวีปอเมริกาเหนือ เป็นเหตุให้สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวยุโรปเข้ามามีอิทธิพลและความเป็นอยู่ของประชากรในทวีปอเมริกาเหนือด้วย
1. ประชากร
1.1 เชื้อชาติ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
1) กลุ่มคนผิวเหลือง เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อพยพมาจากทวีปเอเชีย ได้แก่
– ชาวเอสกิโม หรือ อเมรินเดียน (Amerindian) ปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศแคนาดา มลรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา
– ชาวอินเดียน (Indian) ในสหรัฐอเมริกาและอเมริกากลาง
2) กลุ่มคนผิวขาว เป็นประชากรที่อพยพมาจากทวีปยุโรป ได้แก่ ชาวสเปน โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และชาวยุโรปอื่นๆ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
3) กลุ่มคนผิวดำ เป็นประชากรที่ถูกนำมาจากทวีปแอฟริกา เพื่อใช้แรงงานในไร่นาในสหรัฐอเมริกา มีอยู่มากในสหรัฐอเมริกามากกว่า 30 ล้านคน
4) กลุ่มคนเลือดผสม ได้แก่
– เมสติโซ (Mestizo) หมายถึง พวกเลือดผสมระหว่างชาวผิวขวากับอินเดียน เป็นประชากร ส่วนใหญ่ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกา
– มูแลตโต (Mulatto) หมายถึง พวกเลือดผสมระหว่างชาวผิวดำกับชาวผิวขาว เป็นประชากรในสหรัฐอเมริกา
1.2 ภาษา ภาษาที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ในปัจจุบัน เป็นตระกูลอินโด-ยูโรเปียน มีหลายกลุ่ม ดังนี้
1) ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา
2) ภาษาสเปน เป็นภาษาราชการของประเทศเม็กซิโก และประเทศต่างๆในอเมริกากลาง
3) ภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาที่ใช้มากในรัฐควิเบกของแคนาดาและในเกาะเฮติ
1.3 ศาสนา คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ มีนิกายสำคัญคือ
1) นิกายโปรเตสแตนต์ ประชากรที่นับถืออยู่ในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา
2) นิกายโรมันคาทอลิก ประชากรที่นับถืออยู่ในรัฐควิเบกของแคนาดาและประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกา รวมทั้งประชากรในเมืองต่างๆของสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของสเปนมาก่อน
1.4 การศึกษา
1) กลุ่มแองโกลอเมริกา รัฐบาลได้จัดการศึกษาแบบให้เปล่าทั้งระดับประถมและมัธยม อาจกล่าวได้ว่าประชากรที่มีอายุเกิน 15 ปี เกือบทุกคนเป็นผู้อ่านออกเขียนได้
2) กลุ่มละติอเมริกา มีผู้รู้หนังสือมากกว่าร้อยละ 80 ยกเว้น เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว มีผู้รู้หนังสือประมาณร้อยละ 73 กัวเตมาลาและเฮติ มีผู้รู้หนังสือเพียงร้อยละ 60 และ 53 ตามลำดับ
1.5 การกระจายและความหนาแน่นของประชากร อเมริกาเหนือมีประชากรทั้งหมดประมาณ 469.7 ล้านคน (2541) เฉลี่ยความหนาแน่นประมาณ 21 คนต่อตารางกิโลเมตร
1) บริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น คือ ภาคตะวันออกของทวีป เพราะ
– ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และการคมนาคมขนส่ง- มีปริมาณฝนเพียงพอกับการเพาะปลูก
– มีแร่ธาตุที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้แก่ ถ่านหิน เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม
– มีการคมนาคมขนส่งสะดวก ทั้งทางน้ำภายใน และทะเลสาบใหญ่ทั้ง 5 แม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ แม่น้ำมิสซิสซิปปี เขตชายฝั่งตะวันตกบริเวณรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะเป็นเขตการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและการคมนาคมขนส่ง
2) บริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง เขตเทือกเขาและที่ราบสูงภาคตะวันตก เขตทะเลทรายทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เขตอากาศหนาวเย็นในมลรัฐอะแลสกาและดินแดนทางภาคเหนือของแคนาดา
2. อาชีพและทรัพยากร
1. การเพาะปลูก มีพืชที่สำคัญ ได้แก่
– ข้าวโพด เป็นพืชเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ผลิตได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ปลูกมากในบริเวณ ภาคกลาง โดยเฉพาะดินแดนทางตอนใต้ของทะเลสาบทั้ง 5
– ข้าวสาลี ปลูกมากบริเวณภาคกลางของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา สหรัฐอเมริกามีการปลูกข้าวสาลีฤดูหนาว (Winter wheat) ปลูกมากในเขตที่ราบภาคกลาง ที่ราบภาคใต้ และภาคตะวันออก แคนาดาปลูกข้าวสาลีฤดูใบไม้ผลิ (Spring wheat) ปลูกมากในเขตทุ่งหญ้าแพร์รีตอนกลาง
– ฝ้าย ปลูกมากในบริเวณภาคใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี ภาคตะวันตกในมลรัฐแอริโซนาและแคลิฟอร์เนีย
– ถั่วเหลือง เป็นพืชที่ปลูกเมื่อไม่นานมานี้ เป็นสามารถผลิตได้มากที่สุดในโลก ปลูกมากในเขตที่ราบภาคกลางของสหรัฐอเมริกา
– ยาสูบ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำชื่อเสียงให้แก่สหรัฐอเมริกา จนได้ชื่อว่า ทองคำเขียว (Green Gold) ปลูกมากบริเวณภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มลรัฐเคนทักกี เทนเนสซี จอร์เจีย เวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนา
– อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศคิวบา และหมู่เกาะอินดีสตะวันตก บริเวณลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี มลรัฐฟลอริดาและลุยเซียนา
– ข้าวเจ้า ปลูกมากบริเวณมลรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มลรัฐเทกซัส เทนเนสซี ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี ผลิตได้มาก และปริมาณบริโภคน้อย จึงส่งออกได้มาก
– ผักและผลไม้ต่างๆ ในเขตอบอุ่นทางภาคตะวันออก มีการปลูกเชอร์รี สตรอเบอรี แอปเปิล ทางภาคใต้เป็นเขตร้อน ปลูก ส้ม สับปะรด ชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ ปลูกองุ่น มะกอก ส้ม มะนาว (อากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน)
– พืชผลเมืองร้อน ได้แก่ อ้อย ยาสูบ ปลูกมากในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก กาแฟ กล้วย ฝ้าย ปลูกมากในอเมริกากลาง
2. การเลี้ยงสัตว์
– โคเนื้อ เลี้ยงมากในเขตอากาศแห้งแล้งทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของทวีป โดยเลี้ยงแบบคอกปศุสัตว์ขนาดใหญ่ (Livestock ranching)
– โคนม เลี้ยงมากในเขตที่ราบภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมีการปลูกข้าวโพด ข้าวโอตและถั่วเหลืองไว้เป็นอาหารสัตว์ ทำให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพดี
– สุกร เป็ด และไก่ เลี้ยงมากในเขตเลี้ยงโคนม โดยใช้หางนมเป็นอาหารเสริมสำหรับสุกร ข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งปลูกมากในเขตนี้เป็นอาหารสัตว์ปีก
– แกะ เลี้ยงมากในเขตแห้งแล้งทางภาคตะวันตกและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก
3. การทำป่าไม้ อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ผลิตไม้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากยุโรป ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้ออ่อน เขตป่าไม้อยู่ภาคตะวันตกของแคนาดาในรัฐบริติชโคลัมเบีย แอลเบอร์ตา และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ในมลรัฐออริกอน วอชิงตันและแคลิฟอร์เนีย
4. การประมง แหล่งประมงสำคัญคือ
– ทางตะวันออกของเกาะนิวฟันด์แลนด์ ที่เรียกว่า แกรนด์ แบงก์ (Grand Bank)
– บริเวณชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก และชายฝั่งตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิก
5. การทำเหมืองแร่
1) ถ่านหิน แหล่งที่สำคัญอยู่ในเขตเทือกเขาแอปปาเลชียน และภาคตะวันตกแถบเชิงเทือกเขารอกกีของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก 2) น้ำมันปิโตรเลียม แหล่งผลิตที่สำคัญ คือบริเวณตอนเหนือของมลรัฐอะแลสกา ภาคกลางตอนล่างของแคนาดา และชายฝั่งของอ่าวเม็กซิกโกจนถึงภาคใต้ของประเทศเม็กซิโก
3) เหล็ก แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ บริเวณทะเลสาบทั้ง 5 โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลสาบสุพีเรียบริเวณเทือกเขาเมซาบี (Mesabi Range) ในมลรัฐมินนิโซตา เป็นแหล่งแร่เหล็กที่สำคัญที่สุดในอเมริกาเหนือ
4) ทองคำ และเงิน แหล่งผลิตทองคำอยู่ในเขตเทือกเขารอกกี ส่วนแร่เงินมีแหล่งผลินในเม็กซิโก
5) ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ฟอสเฟต แหล่งผลิตอยู่ในเขตเทือกเขารอกกี
6) บอกไซต์ เป็นแร่ที่ใช้ผลิตอะลูมิเนียม พบมากในมลรัฐอาร์คันซอของสหรัฐอเมริกาและเกาะเจเมกา
6. การอุตสาหกรรม อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่มีความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมมาก ย่านอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่นิวยอร์คทางชายฝั่งมหาสมุทรแอนแลนติกเข้าไปจนถึงบริเวณทะเลสาบทั้ง 5 และมลรัฐทางชายฝั่งตะวันตกและทางใต้ ย่านอุตสาหกรรมของแคนาดาอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์
7. การค้าขาย สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีปริมาณการค้ากับภูมิภาคอื่นมากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ
1) สินค้าออก ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก เหล็กกล้า ถ่านหิน เครื่องจักรกล ไม้ ยาสูบ รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ
2) สินค้าเข้า ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม จากตะวันออกกลาง กาแฟ จากอเมริกาใต้ ชา จากศรีลังกาและอินเดีย ผลไม้เมืองร้อน จากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ดีบุกและยางพารา จากเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ขนแกะ จากออสเตรเลีย ฯลฯ
8. การคมนาคมขนส่ง
1) ทางบก ประกอบด้วย ทางรถไฟ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีทางรถไฟยาวรวมกันประมาณ 300,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวกว่าทางรถไฟของยุโรปทั้งทวีป ทางรถไฟของอเมริกาเหนือหนาแน่นบริเวณชายฝั่งตะวันออก
ทางรถยนต์ กลุ่มแองโกลอเมริกา มีทางหลวงที่มีผิวจราจรชั้นดีมีความยาวรวมกันมากกว่าความยาวของทางรถไฟถึง 16 เท่า และมีทางหลวงสายนานาชาติที่เชื่อมประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาเหนือตั้งแต่แคนาดาถึงปานามา เรียกว่า ทางหลวงสายแพนอเมริกา (Pan-American Highway Or Inter-American Highway) และต่อเข้าไปถึงเมืองหลวงของประเทศเปรู
2) ทางน้ำ ประกอบด้วย
– มหาสมุทรแอตแลนติก มีเส้นทางเดินเรือที่ใช้ขนส่งสินค้ามากที่สุดระหว่างอเมริกาเหนือกับทวีปยุโรป มีเมืองท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น บอสตัน นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย ฮาลิแฟกซ์ นิวออร์ลีนส์ ฯลฯ
– แม่น้ำและทะเลสาบ เป็นเส้นทางเดินเรือภายในทวีปที่สำคัญ ทะเลสาบทั้ง 5 แม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ แม่น้ำมิสซิสซิปปีระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกมีการขุดคลองที่คอคอดปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินเรือโดยไม่ต้องผ่านแหลมฮอร์นในทวีปอเมริกาใต้ คือ คลองปานามา มีความยาว 74 กิโลเมตร
3) ทางอากาศ มีความเจริญก้าวหน้ามากโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีทั้งเส้นทางอากาศภายในประเทศและระหว่างประเทศ
4) ทางท่อ เป็นระบบที่ใช้ในการส่งแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหินผงและน้ำจากแหล่งผลิตไปสู่แหล่งบริโภค การขนส่งทางระบบที่ใช้ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 50 ของโลก อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ระบบท่อขนส่งน้ำมันจากอะแสสกา-อเมริกา มีความยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร และมีการติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อป้องกันน้ำมันแข็งตัว
จงตอบคำถามต่อไป ให้ถูกต้องสมบูรณ์
ตอนที่ 1
1.คำว่า “อเมริกา” มาจากชื่อของนักสำรวจ ชาวอิตาเลียน คือใคร
2.พรมแดนธรรมชาติ ที่แบ่งแองโกลอเมริกาและละตินอเมริกา คือ
3.ช่องแคบที่คั่นระหว่าทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชีย คือ
4.น่านน้ำที่อยู่รอบเกาะกรีนแลนด์ คือ
5.ส่วนแคบที่สุดของอทวีปอเมริกาเหนือ คืออะไร
6.สหรัฐอเมริกาและแคนาดาจัดอยู่ในกลุ่มประเทศใด
7.ละตินอเมริกา หมายถึงอะไร
8.คลองในทวีปอเมริกาที่ขุดเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก คือ
9.อเมริกากลาง หมายถึงอะไร
10.ภูมิประเทศตอนกลางของแองโกลอเมริกาส่วนใหญ่มีลักษณะอย่างไร
11.เพราะเหตุใดที่ราบรอบอ่าวฮัดสันในทวีปอเมริกาเหนือมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
12.มีทวีปใดบ้างที่ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือทั้งหมด
13.อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ตั้งอยู่ระหว่างน่านอะไร
14.เมื่อนักเรียนการเดินเรือจากประเทศไทยไปยังทวีปอเมริกาเหนือให้ใกล้ที่สุด จะต้องผ่านน่านอะไร
15.มีทวีปอะไรบ้างที่มีขนาดใหญ่กว่าทวีปอเมริกาเหนือ
16.ดินแดนส่วนใดของอเมริกาเหนือที่อยู่ใกล้ทวีปเอเชียมากที่สุด
17.ดินแดนใดที่ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของทวีปอเมริกาเหนือ
18.ช่องแคบใดเป็นน่านน้ำที่คั่นทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชีย
19.ประเทศที่อยู่ใต้สุดของทวีปอเมริกาเหนือ คือ
20.ภูมิภาคใดของทวีปอเมริกาเหนือ มีพื้นที่มากที่สุด
21.ดินแดนของประเทศในกลุ่มแองโกลอเมริกาเริ่มและสิ้นสุดที่ใด
22.ประเทศปานามามีดินแดนจรดประเทใดในทวีปอเมริกาใต้
23.อ่าวขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ คือ
24.เกาะที่สำคัญที่อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกของอเมริกาเหนือ
25.กลุ่มประเทศแองโกลอเมริกา และละตินอเมริกา มีความคล้ายคลึงกันมากที่สุดในด้านใด
ตอนที่ 2
1.เทือกเขาใดไม่ได้อยู่ในเขตแองโกลอเมริกา
2.ยอดเขาแมคคินลีย์อยู่ในแนวเทือกเขาอะไร
3.จงยกตัวอย่างแนวเทือกเขาในเขตแองโกลอเมริกามาอย่างน้อย 3 ชื่อ
4.ที่ราบสูงใดของทวีปอเมริกาเหนือที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
5.แกรนด์ แคนยอน เป็นภูมิประเทศแบบโกรกธารที่สวยงาม อยู่ในเขตภูมิประเทศใด
6.เขตเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบสูง เป็นลักษณะภูมิประเทศบริเวณใดของอเมริกาเหนือ
7.ลักษณะภูมิประเทศซึ่งเกิดจากกการกระทำของแม่น้ำลำธารในเขตที่ราบสูงจนกลายเป็นหุบเหวลึก และมีหน้าผาสูงชันมาก เรียกว่าอะไร
8.แกรนด์ แคนยอนพบได้บริเวณใดของอเมริกาเหนือ
9.แคนาเดียนชีลด์ ได้แก่พื้นที่บริเวณใดของอเมริกาเหนือ
10.หมู่เกาะของทวีปอเมริกาด้านมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากจะมีหมู่เกาะอะลิวเชียน หมู่เกาะควีนซาล็อตแล้ว ยังอีกหนึ่งหมู่เกาะคือ
11. Great Lakes ประกอบด้วยอะไรบ้าง
12.ที่ราบสูงทางภาคตะวันตกของแคนาดา เรียกว่า
13.ทะเลในทวีปอเมริกเหนือที่ใกล้ขั้วโลกเหนือมากที่สุด
14.ที่ราบลุ่มแม่น้ำในทวีปอเมริกาเหนือที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
15.แม่น้ำในทวีปอเมริกาเหนือที่ไหลลงสู่อ่าวแคลิฟอร์เนีย
6. ลักษณะภูมิอากาศ ปัจจัยที่ควบคุมภูมิอากาศให้มีลักษณะแตกต่างกัน มีดังนี้
ตอนที่ 3
1.พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือมีลักษณะภูมิอากาศแบบใด
2.กระแสน้ำอะไรที่มีอิทธิพลทำให้ชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกของแคนาดามีอากาศหนาวเย็น กว่ายุโรปตะวันตก ซึ่งอยู่ในแนวละติจูดเดียวกัน
3.ชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปอเมริกาเหนือ ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำ 2 สายคือ
4.ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายหรือทุ่งหญ้าสเตปป์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบได้ในบริเวณใด
5.พื้นที่ส่วนใหญ่ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีลักษณะภูมิอากาศแบบใด
6.เขตทุ่งหญ้าสั้น ในทวีปอเมริกาเหนืออยู่บริเวณใด
7.เขตภูมิอากาศแบบไทกา ในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่พื้นที่บริเวณใด
8.เขตภูมิอากาศแบบใดมีพืชพรรณธรรมชาติเป็นพวกตะไคร่น้ำและมอสส์ ภูมิอากาศแบบขั้วโลก
9.ภูมิอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง พบบริเวณใดในทวีปอเมริกาเหนือ
10.พายุหมุนที่มักก่อตัวมาจากทะเลแคริบเบียนมีชื่อว่าอะไร
11.กลุ่มประเทศละตินอเมริกา และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ส่วนใหญ่มีภูมิอากาศแบบใด
12.ชายฝั่งตอนกลางของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีลักษณะภูมิอากาศคล้ายคลึงกับบริเวณใดของยุโรป
13.มลรัฐใดของสหรัฐอเมริกาที่มีภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นแบบทะเลทราย
14.ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น ควรประกอบเลี้ยงสัตว์ประเภทใดที่จะให้ผลตอบแทนมากที่สุด
15.ชายฝั่งของรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาและมลรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกามีอากาศหนาวไม่มากในฤดูหนาว เพราะได้รับอิทธิพลจากอะไร
16.มีปัจจัยใดบ้างที่อิทธิพลต่อลักษณะภูมิอากาศของทวีปอเมริกาเหนือ
17.บริเวณใดของอเมริกาเหนือที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น
18.บริเวณใดของทวีปอเมริกาเหนือที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน
19.เขตภูมิอากาศอบอุ่นชื้นด้านชายฝั่งตะวันออกของแคนาดาและสหรัฐอเมริกามีฝนตกชุกตลอดปี เพราะได้รับอิทธิพลของอะไร
20.ดินแดนทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก ตั้งอยู่ในละติจูดต่ำ ซึ่งเป็นเขตร้อน แต่มีอากาศเย็นสบายไม่ร้อนจัด เพราะเหตุใด
ตอนที่ 4
1.ชนเชื้อชาติใดเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของทวีปอเมริกาเหนือ
2.เชื้อชาติผสมระหว่างอินเดียนกับชาวผิวขาว เรียนกว่าอะไร
3.ชายวยุโรปชาติใดเป้นผู้ครอบครองดินแดนส่วนต่างๆของอเมริกาเหนือในระยะแรกๆ
4.ละตินอเมริกา เป็นภูมิภาคที่ได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากชาติใด
5.บางส่วนของประเทศใด ในทวีปอเมริกเหนือที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ
6.ชาวยุโรปชาติแรกที่ส่งเสริมในการให้เดินเรือสำรวจดินแดนทวีปใหม่กระทั่งค้นพบทวีปอเมริกาเหนือคือชาติใด
7.บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบทวีปใหม่ คือทวีปอเมริกา
8.สหรัฐอเมริกาเกิดจากอาณานิคมของชาติใด ที่ประกาศแยกตนเป็นอิสระแล้วประสบผลสำเร็จ
9.อารยธรรมของชาวอินเดียนเผ่าอะไรในดินแดนของประเทศเม็กซิโก
10.พวกเชื้อชาติเลือดผสมระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาวในทวีปอเมริกา เรียกว่าอะไร
11.ชาวผิวขาวในเม็กซิโกส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด
12.ปัจจุบันประเทศในทวีปเมริกาเหนือ มีประชากรสืบเชื้อสายมาจากชนชาติในทวีปอื่นๆ มากที่สุด
13.ส่วนใดของทวีปอเมริกาเหนือ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด
14.ประเทศใดในทวีปอเมริกาเหนือมีระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
15.ปัจจัยที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรของทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่อะไร
16.มลรัฐใดของสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งน้ำดิบปิโตรเลียม
17.อาชีพสำคัญของประชากรในเกาะนิวฟันด์แลนด์ คืออะไร
18.บริเวณใดเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีสำคัญที่สุดของทวีปอเมริกาเหนือ
19.บริเวณใดเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแคนาดา
20. Cotton Belt ของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่บริเวณใด
21.พืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของแคนาดาคือ
22.บริเวณใดเป็นแหล่งแร่เหล็กที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกา
23.พืชเศรษฐกิจสำคัญของคิวบา คืออะไร
24.ประเทศคู่การค้าที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา คือ
25.เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงใช้แรงงานภาคเกษตรจำนวนน้อยแต่มีผลผลิตปริมาณมาก
26.บริเวณใดในแองโกลอเมริกาที่มีการคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในทวีปหนาแน่นมากที่สุด
27.เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา คือเมืองอะไร
28.น่านน้ำใดที่แองโกลอเมริกาที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างทวีปมากที่สุด
29.แม่น้ำสาขาของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ประกอบด้วย
30.Green Gold สัมพันธ์กับรัฐใดของสหรัฐอเมริกา
31.บริเวณใดของอเมริกาเหนือ เป็นแหล่งปลูกข้าวเจ้า อ้อยและสับปะรด
32.บริเวณใดของสหรัฐอเมริกา เป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นที่สุด
33.เมืองชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา คือ
34.แหล่งทรัพยากรธรรมชาติของมลรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา คืออะไร
35. ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดานับถือศาสนาคริสต์นิกายอะไร
36.ประเทศขนาดใหญ่ในอเมริกาเหนือ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านแร่ธาตุหลายชนิด แต่มีประชากรเฉลี่ยต่อพื้นที่แล้วอาศัยอยู่เบาบาง คือประเทศใด
37.แคนาดามีพื้นที่มากกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะเหตุใดเขตเกษตรกรรม จึงไม่กว้างใหญ่เท่าสหรัฐอเมริกา
38.พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและหมู่เกาะอินดีสตะวันตก คือ
39.ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเม็กซิโก เป็นชนกลุ่มใด
40.ชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของปานามา คอสตาริกา นิการากัว มีลักษณะภูมิอากาศคล้ายคลึงกับภาคใดของประเทศไทย
อ้างอิง : เรียนสังคมศึกษากับครูแนน. "ทวีปอเมริกาเหนือ (North America)"
<https://nongnan9004.wordpress.com/%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C/%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD-north-america/> 5 เมษายน 2559.